17 กุมภาพันธ์ 2563

ชิงเค้กจำนำทะเบียน 4 แสนล้าน 'แบงก์-ทุนท้องถิ่น'ดาหน้าลงสมรภูมิแข่ง

ธุรกิจจำนำทะเบียนคึกคัก "แบงก์- ผู้ประกอบการท้องถิ่น" โดดชิงเค้กปล่อยกู้ "นายกสมาคมสินเชื่อทะเบียนรถ" ประเมินมูลค่าปล่อยกู้ในตลาดรวม สูงถึง 4 แสนล้านบาท "ธนาคารเกียรติ นาคิน" เริ่มออกโปรดักต์ทำตลาดปีนี้ ฟากแบงก์ชาติอัพเดตล่าสุดแจก ใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนรถแล้ว 38 ราย ฟากคลังไฟเขียวไลเซนส์ "พิโกไฟแนนซ์" ไปแล้ว กว่า 800 ราย
          นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมการค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมตลาดจำนำทะเบียนรถในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้เล่นในตลาดมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงธนาคารที่มี เข้ามาทดลองตลาดกันมากขึ้น ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเริ่มอิ่มตัว จากหนี้ครัวเรือน ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐมองว่าตลาดรายย่อยมีความต้องการสินเชื่อประเภทนี้มากกว่ากลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่เน้นสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก ทำให้ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายเข้ามากำกับดูแลอย่างชัดเจนมากขึ้น
          จึงเห็นภาพการขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในตลาดมีผู้ประกอบการมากกว่า 100 ราย ขณะที่คนในธุรกิจมองว่า ตลาดจำนำทะเบียนรถมีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท สูงกว่าที่ทางการประเมินว่ามีมูลค่า 2 แสนล้านบาทถึง 1 เท่าตัว
          อย่างไรก็ดี การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจอาจจะมาจากผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งทำธุรกิจอยู่แล้วแต่ต้องการทำให้ ถูกต้องตามกฎระเบียบทางการ และบางส่วนจะเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาทดลองตลาดนี้ รวมถึง บางส่วนที่มีใบอนุญาตทับซ้อนกับ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งจะแตกต่างกัน ด้วยทุนจดทะเบียนและวงเงินการปล่อยสินเชื่อ
          "แม้ว่าจำนวนผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าการทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะระบบการคำนวณอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจากเดิม ผู้ประกอบการจะใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (fixed rate) แต่ภายใต้การกำกับ กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (effective rate) เพดานอยู่ที่ 28% รวมถึงการเริ่มสร้างสาขาและทยอยขยายเครือข่าย ทำให้ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว" นายปิยะศักดิ์กล่าว
          "ด้านการแข่งขัน หากเป็นผู้ประกอบการ ท้องถิ่นจะมีจุดแข็งในเรื่องความชำนาญในกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นหรือชุมชน ขณะที่ ผู้ประกอบการสถาบันการเงินจะได้เปรียบ ในเรื่องของต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า ซึ่งจะเน้นแข่งขันทางด้านอัตราดอกเบี้ยและบริการได้ดีกว่า อย่างไรก็ดี เชื่อว่า การมีผู้เล่นในตลาดจำนวนมากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกและบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายปิยะศักดิ์กล่าว
          ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ล่าสุดมีธุรกิจจำนำทะเบียนได้รับไลเซนส์สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแล้วทั้งสิ้น 38 บริษัท (ณ 10 ก.พ. 2563)
          นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2562 มีจำนวนผู้ได้รับ ใบอนุญาตประเภทพิโกไฟแนนซ์แล้วทั้งสิ้น 782 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 52 ราย และประเภท พิโกพลัสทั้งสิ้น 22 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 7 ราย ซึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสามารถให้บริการสินเชื่อ โดยรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน" หรือ "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ" ได้ด้วย
          นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการทดลองปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารจะออกมาทำตลาดปีนี้ นอกจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถกู้เงินด่วน (CarQuickCash) ที่มีอยู่แล้ว
          นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันบริษัทได้เริ่มธุรกิจใหม่ ภายใต้ "สินเชื่อ เคทีซีพี่เบิ้ม" แล้ว ซึ่งในส่วนที่เป็นสินเชื่อ จำนำทะเบียนรถ ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมีลูกค้าเข้ามาขอใช้สินเชื่อแล้วเป็นหลักสิบล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนขยายธุรกิจต่อเนื่อง

 

แหล่งที่มาข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 5228, 17-19 กุมภาพันธ์ 2563