16 พฤศจิกายน 2561

เหตุไร้กฎหมายดูแล “สินเชื่อทะเบียนรถ” ทำเกณฑ์อัตราดอกเบี้ยสับสน

            เมื่อไม่นานมานี้หลายคนคงได้ยินข่าวการร้องเรียนเรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดของผู้ที่ดำเนินกิจการ “สินเชื่อทะเบียนรถ” หรือบ้างก็เรียกว่าสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยนำประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 654 ซึ่งระบุว่าห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือเฉลี่ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน มาใช้อ้างอิง ขณะที่ทางด้านผู้ประกอบการต่างยืนยันว่าดอกเบี้ยที่เรียกเก็บนั้นสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง  อีกทั้งไม่ได้ขัดต่อกฎหมายเนื่องจากปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีการออกหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทะเบียนรถที่ชัดเจนออกมา  ซึ่งทางผู้ประกอบการเองก็ต้องการให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้เพื่อที่ทุกรายจะได้สามารถประกอบธุรกิจภายใต้มาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาความสับสับของลูกค้าที่มาใช้บริการสินเชื่นอีกด้วย

จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการสินเชื่อทะเบียนรถกว่า 1,000  ราย ซึ่งแต่ละรายก็มีรูปแบบที่แตกต่างกัน บ้างเป็นบริษัทลูกของสถาบันการเงิน บ้างเป็นบริษัทเงินทุน บางรายเป็นพิโก้ไฟแนนซ์ ขณะที่บางรายเป็นบริษัทลิสซิ่งที่ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถด้วย และเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่ละบริษัทจึงมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าดำเนินการที่แตกต่างกันไป ทำให้สังคมเกิดความสับสน

อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแม้ประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 654 ซึ่งห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี จะบังคับใช้กับการปล่อยกู้ทุกประเภท เนื่องจากเป็นกฎหมายแผ่นดิน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงกฎหมายเฉพาะที่ออกมาบังคับใช้สำหรับธุรกิจนั้นๆด้วย หากกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกใบอนุญาตสำหรับธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งออกมาก็ถือว่าธุรกิจนั้นสามารถดำเนินกิจการและกำหนดอัตราดอกเบี้ยภายใต้กรอบที่กระทรวงการคลังและ ธปท.กำหนด

แต่หากยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนก็ต้องนำข้อเท็จจริงเรื่องต้นทุนในการดำเนินการของธุรกิจมาประกอบในการพิจารณาด้วย เพราะหากใช้กฎหมายแพ่งมาตรา 654 มาจับเพียงอย่างเดียวก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการนัก เพราะหากเป็นเช่นนั้นผู้ประกอบการสินเชื่อทะเบียนรถที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,000 ราย ก็อาจจะถูกดำเนินคดีทั้งหมด เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบการรายใดเลยที่อัตราดอกเบี้ยและค่าดำเนินการที่เรียกเก็บรวมน้อยกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งมีต้นทุนในการให้บริการต่ำกว่าสินเชื่อทะเบียนรถยนต์เนื่องจากใช้พนักงานจากส่วนกลางและไม่ต้องมีสาขา ก็คิดดอกเบี้ย ค่าปรับ และค่าดำเนินการ รวมไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี อีกทั้งอัตราดังกล่าวยังเป็นอัตราที่ธนาคารแห่งชาติประเทศไทย หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศเป็นผู้กำหนด จึงเป็นไปไม่ได้ที่สินเชื่อทะเบียนจะสามารถดำเนินธุรกิจภายใต้อัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี ในขณะที่ต้องมีสาขาจำนวนมากเพื่อเข้าถึงลูกค้าในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละสาขามีค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาคาร เงินเดือนพนักงาน และค่าน้ำ-ค่าไฟ ที่สำคัญสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าแต่ละรายนั้นน้อยมากเนื่องจาก “วงเงิน” ที่ลูกค้าลักษณะนี้ยื่นกู้อยู่ที่หลักพันถึงหมื่นเท่านั้น

ถามว่าที่ผ่านมาทำไมลูกค้าสินเชื่อทะเบียนรถจึงยอมรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี  โดยบริษัทสินเชื่อทะเบียนรถส่วนใหญ่จะคิดอัตราดอกเบี้ยรวมค่าดำเนินการแล้วอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 กว่าๆ ถึงร้อยละ 30 กว่าๆต่อปี ทั้งนี้เพราะสินเชื่อทะเบียนรถตอบโจทย์ความต้องการและสามารถรองรับข้อจำกัดของลูกค้า ใน  3  ประเด็น คือ 1) สินเชื่อทะเบียนรถเป็นแหล่งเงินทุนที่ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากลูกค้าสินเชื่อทะเบียนรถส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ไม่ใช่ข้าราชการที่สามารถกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่มีสลิปเงินเดือนที่จะใช้ในการยื่นขอสินเชื่อบัตรเครดิตเหมือนพนักงานบริษัท   2) อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อทะเบียนรถ เพราะถูกกว่าดอกเบี้ยถูกกว่าเงินกู้นอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 240 ต่อปี 3) รายได้จากการนำสินเชื่อไปใช้ในการประกอบธุรกิจมีมูลค่ากว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย อาทิ พ่อขายไก่ทอดหาดใหญ่ กู้เงิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 31 ต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 2.58 ต่อเดือน นำไปลงทุนซื้อวัตถุดิบ 2 วันต่อครั้ง ครั้งละ 10,000 บาท ยอดขายต่อสองวัน อยู่ประมาณ 17,000-18,000 บาท ทุกสองวันจะได้เท่าไร 7,000-8,000 บาท เท่ากับว่าเงิน 10,000 บาท นำไปหมุนได้เดือนละ 15 รอบ ทำกำไรให้เดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ขณะที่ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอยู่ที่เดือนละ 258 บาทเท่านั้น

 จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สินเชื่อทะเบียนรถเป็นแหล่งเงินทุนที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมาก โดยจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันลูกค้าสินเชื่อทะเบียนรถมีอยู่ประมาณ 3-5 ล้านคนทั่วประเทศ  มูลค่าสินเชื่อรวมประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี  และเป็นธุรกิจสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสินเชื่อทะเบียนรถกว่า 1,000  ราย มีจำนวนสาขารวมทุกบริษัทนับหมื่นแห่ง มากกว่าจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์เสียอีก

และเนื่องจากสินเชื่อทะเบียนรถเป็นแหล่งสินเชื่อที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจที่ชัดเจน รัฐบาลจึงเร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ยกร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ..... เสร็จเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการพิจารณากำหนดเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อทะเบียนรถ โดยอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งเบื้องต้นได้แนวทางคร่าวๆ คือ จะแบ่งผู้ประกอบการเป็นสองกลุ่ม  1. ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (ให้บริการได้เฉพาะจังหวัด)  เงื่อนไขการปล่อยกู้ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท/ราย ดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายต่างๆไม่ เกิน 36% ต่อปี และ 2. ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (ให้บริการได้ทั่วประเทศ) ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม รวมค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่เกิน 28% ต่อปี ซึ่งก็มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ท้วงติงว่าอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 28% ต่อปีนั้นเป็นผลตอบแทนที่ยากต่อการดำเนินธุรกิจ

ส่วนข้อสรุปสุดท้ายจะออกเป็นเช่นไรนั้นต้องขึ้นกับผลการหารือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการสินเชื่อทะเบียนรถ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้คาดว่าหลักเกษณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ได้ภายในเดือน พ.ย. นี้